top of page

ชุมชนบ้านปราสาท

Ban Prasat Village, Amphoe Non Sung, Nakhon Ratchasima

คำขวัญ

ธารปราสาทไหลริน                       เที่ยวถิ่นอารยธรรม

มีหัตกรรมพื้นบ้าน                         แหล่งโบราณน่าศึกษา

การทอผ้างานฝีมือ                        สิ่งลือชื่อวงมโหรี

กลุ่มสตรีทำขนม                           ตั้งชมรมสหกรณ์ยา

ศูนย์พัฒนาเด็กฝรั่งรู้จัก                 จัดที่พักโฮมสเตย์

           ชุมชนบ้านปราสาท ตั้งอยู่ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอ ประกอบด้วย 19 หมู่บ้านตามลำดับ ดังนี้ บ้านสำโรง บ้านตลาดแค บ้านวังม่วง บ้านตะขบ บ้านใหม่เกษม บ้านหญ้าคาใต้ บ้านปราสาทใต้ บ้านปราสาทเหนือ บ้านหญ้าคาเหนือ บ้านหนองแหน บ้านสระแทด บ้านสามแยกตลาดแค บ้านใหม่เกษมเหนือ บ้านหัวทำนบ บ้านตลาดแคตะวันออก บ้านงิ้วตะแบก บ้านธารปราสาท บ้านดอนยาง และบ้านหนองแหนพัฒนา 

          พื้นที่รวมทั้งหมดของตำบลธารปราสาทประมาณ  29,403 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 6.58 ของพื้นที่ทั้งหมดของอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา  มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่างๆ  ดังนี้

              ทิศเหนือ             ติดต่อ       ตำบลตาจั่น  อำเภอคง  จังหวัดนครราชสีมา

              ทิศใต้                 ติดต่อ       ตำบลสัมฤทธิ์  อำเภอพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา

              ทิศตะวันออก       ติดต่อ       ตำบลกระเบื้องใหญ่  อำเภอพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา

              ทิศตะวันตก         ติดต่อ       ตำบลหลุมข้าว  อำเภอโนนสูง  จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านปราสาท

                บ้านปราสาท ได้ก่อตั้งบ้านเรือนมาหลายพันปี  ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด  เพียงแต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาว่ามียอดปราสาทอยู่ในลำน้ำ  ภายหลังมีสองสามีภรรยาคู่หนึ่ง คือตารวมกับยายโรยได้ไปหาปลาในลำน้ำดังกล่าว และหว่านแหหาปลาลงไปในน้ำแต่ดึงแหขึ้นมาไม่ได้ จึงดำน้ำลงไปเพราะคิดว่าแหติดกิ่งไม้ พอลงไปจึงพบว่าเป็นยอดปราสาททองคำ สองตายายดีใจมาก พยายามนำยอดปราสาทขึ้นจากน้ำ  ในขณะที่ยอดปราสาทจะโผล่พ้นน้ำนั้นได้เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น  ฝนตกลงมาอย่างหนักมืดฟ้ามัวดินแต่ตากับยายก็ยังพยายามเอายอดปราสาทขึ้นจากน้ำต่อไป  จนเกิดอภินิหารขึ้นอีกครั้งยอดปราสาทที่ตากับยายยกขึ้นเหนือน้ำได้เกิดร้อนระอุเป็นไฟ  ตากับยายจึงต้องสละทิ้งไว้ตามเดิม  เมื่อกลับมาถึงบ้านตากับยายก็ล้มป่วยอย่างรุนแรงจนหัวโกร๋นและเสียชีวิตลงในเวลาไล่เลี่ยกันดวงวิญญาณสองตายายยังวนเวียนอยู่ในลำปราสาทจนถึงทุกวันนี้  ลำน้ำแห่งนี้ไหลผ่านหมู่บ้าน จึงตั้งชื่อว่ “ลำปราสาท” ส่วนหมู่บ้านตั้งอยู่สองฝั่งจึงตั้งชื่อว่า “บ้านปราสาทเหนือ” และ “บ้านปราสาทใต้” จนถึงปัจจุบัน ลำปราสาทแห่งนี้เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่  ในสมัยนั้นจะสังเกตได้จากเมื่อมีคนแปลกหน้าหรือคนต่างถิ่นลงอาบน้ำในลำปราสาทนี้เมื่อใด  มักถูกผีน้ำอำอยู่เสมอ คือทำให้เจ็บป่วยกะทันหันแต่ไม่ถึงแก่ชีวิต  เมื่อมีลูกหลานจะลงอาบน้ำในลำปราสาท ผู้เฒ่าผู้แก่ก็ต้องไปบอกผีเจ้าน้ำเสียก่อนว่า “ตารวยกับยายโรยเอย ขอน้ำให้ลูกหลานอาบเบิ้งเด้อ” เพื่อเป็นการขออนุญาตก็จะไม่เจ็บป่วย  ในกรณีหากใครถูกผีอำทำให้เจ็บป่วยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบนบานศาลกล่าว  จากนั้นก็จะหายเป็นปกติ  นอกจากนี้ลำปราสาทยังมีความศักดิ์สิทธ์เหนือลำน้ำทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง  คือเมื่อถึงวันพระขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ  ชาวบ้านมักได้ยินเสียงปี่พาทย์ฆ้องตีแห่มาตามสายน้ำทุกวันพระ  สมัยก่อนช้างข้ามลำปราสาทจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ช้างจะตายทางทิศเหนือของหมู่บ้าน จึงเรียกว่า หนองหัวช้างเช่นเดียวกับลำปราสาทที่มีท่าสำหรับให้ช้างข้ามไปมาได้สะดวกปลอดภัย จึงเรียกว่า ท่าช้าง (ปัจจุบันเป็นสะพานคอนกรีต) อยู่ที่บ้านหลุมข้าวทางไปหนองหัวฟานห่างจากบ้านปราสาทไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร

                บ้านปราสาท เดิมอยู่ในพื้นที่ตำบลโนนสูง  ต่อมาเมื่อปี ๒๔๙๕ ได้มีการแยกตำบลมาเป็นตำบลธารปราสาท  บ้านปราสาทจึงแยกออกเป็น ๒ หมู่บ้าน คือบ้านปราสาทใต้ หมู่ ๗ และบ้านปราสาทเหนือ หมู่ ๘  ในปี ๒๕๔๔ บ้านปราสาทใต้ได้แยกออกมาอีก ๑ หมู่บ้าน คือ บ้านธารปราสาท หมู่ ๑๗ 

20120503111309j5Pa
DSC_0730
DSC_0468
DSC_0163
DSC_0162
DSC_0060
DSC_0057
DSC_0047
DSC_0048
DSC_0056

รางวัลที่ได้รับเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน

1. รางวัลชนะเลิศ PATA GOLD AWARDS 1994 ในประเภท PATA HERITAGE & CULTURE ซึ่งเป็นรางวัลจาก PACIFIC ASIA TRAVEL ASSOCIATION (PATA)

2. รางวัลชนะเลิศ The ASEANTA AWARDS FOR EXCELLENCE IN TOURISM 1996 ในประเภท “The ASEAN Cultural Preservation Effort”

ประวัติความเป็นมาของแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท

            เมื่อในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีชาวสุพรรณ (นักล่าของเก่า) ได้เข้ามาเดินตามตรอกซอกซอยในหมู่บ้าน  เขาได้สังเกตดูตอนฝนตก น้ำฝนจะเซาะดินและชะล้างสิ่งต่างๆ ให้เห็นมักจะเป็นเศษหม้อแตกลูกปัดหินเกตุและอื่นๆ  จนเขาแน่ใจว่าบริเวณบ้านปราสาทแห่งนี้ต้องมีค่า  เขาจึงตัดสินใจขอเช่าที่ดินของชาวบ้าน โดยขอให้ที่ดินกว้าง ๓๐๐ เมตร  ยาว๓๐๐ เมตร  ในราคา ๓๐๐ บาท  และได้จ้างเจ้าของที่ดินเป็นผู้ขุด  เจ้าของบ้านได้ค่าจ้างขุดวันละ ๕๐ บาทต่อคน  ในขณะนั้นเป็นนอกฤดูทำนา เมื่อขุดลึกไปประมาณ ๓ เมตร เริ่มได้ของมากมาย เมื่อรวบรวมได้มากๆ ชาวสุพรรณจะลำเลียงไปขายที่วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ  ต่อมาชาวบ้านรู้จักวิธีการจึงไม่ยอมให้เช่าที่ดินอีก  แต่ชาวบ้านทำการขุดขายเสียเอง ชาวสุพรรณจึงทำการรับซื้อจากชาวบ้านอย่างเดียว ขุดและรับซื้ออยู่นานหลายเดือน ฐานะชาวบ้านที่ทำเริ่มดีขึ้นจากมีรถจักรยานยนต์ก็จะมีรถยนต์  ทางผู้นำชุมชนและคณะครูอาจารย์โรงเรียนบ้านธารปราสาทเห็นว่าขืนปล่อยให้ชาวบ้านขุดขายต่อไป  สิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้านจะหมดไปไม่มีอะไรเหลือ  จึงคิดหาทางระงับการขุดขาย  ผู้นำชุมชนจะห้ามก็ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของชาวบ้าน  ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทุกตารางนิ้วของเขาเอง  มีทางเดียวต้องแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและผู้เกี่ยวข้องให้มาจัดการทางผู้นำชุมชนและครูอาจารย์จึงได้รายงานไปยังกรมศิลปากรพิมายและตำรวจท้องที่  เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจึงเข้ามาปรามการขุดค้น  ชาวบ้านจึงยุติการขุดค้นตั้งแต่นั้นมา  จากนั้นกรมศิลปากรเข้ามาดูและหางบประมาณมาขุดค้นเพื่อศึกษาทางโบราณคดีรวม ๗ หลุม  ทางกรมศิลปากรไม่ได้อนุรักษ์ไว้เพราะขาดงบประมาณเพียงแต่ขุดค้นเพื่อศึกษาและวิจัยเท่านั้น  เจอของดีๆ ที่เป็นสำคัญพอจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีได้ก็จะนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พิมายและกลบหลุมตามเดิม  ทางชุมชนและคณะครูอาจารย์โรงเรียนบ้านธารปราสาทเห็นวัตถุโบราณเหล่านี้ควรจะอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา จึงได้ทำพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขี้น  ทางชุมชนและคณะครูอาจารย์โรงเรียนบ้านธารปราสาทจึงปรึกษาหารือกันที่จะหางบประมาณมาขุดและอนุรักษ์รักษาไว้  ขณะนั้นได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ หลายที่แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ  บังเอิญด้วยบุญกุศลของชาวบ้านปราสาทที่มีลูกหลานในหมู่บ้าน คืออาจารย์สมชาย รักกลาง ทำงานอยู่กองทัพภาคที่ ๒ รู้จักกับเสธ.อำนาจ การงาน  จึงได้ชวนท่านเสธ.อำนาจมาที่หมู่บ้านปราสาทและเล่าเรื่องให้ฟัง รวมทั้งนำภาชนะดินเผาบางส่วนที่ยังมีเหลือให้ท่านดู  ท่านจึงรับอาสาไปติดต่อกับแม่ทัพภาคที่ ๒ เพื่อของบประมาณอีสานเขียวงวดสุดท้าย ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ซึ่งได้รับความร่วมมือในการเขียนโครงการโดยอาจารย์จรัญและอาจารย์คะนึงนิตย์ จอมกลาง  อาจารย์โรงเรียนบ้านธารปราสาท ผู้อยู่อยู่ในคณะที่ปรึกษาชุมชนมาโดยตลอด  ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จ ได้รับงบประมาณ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และได้ทำการขุดอนุรักษ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เสร็จสิ้นทั้ง ๓ หลุมขุดค้นและอาคารกันฝนพร้อมสำนักงานบริการแหล่งท่องเที่ยว ลานจอดรถ ถนนลาดยางเข้าหมู่บ้าน เชื่อมต่อทั้ง ๓ หลุม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖  ได้ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมและศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท และได้จัดแหล่งชุมชนโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักศึกษาเข้าพักนำร่องในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เช่นกัน  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๓๘ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างการประปาหมู่บ้านให้กับแหล่งโบราณคดีและชุมชนบ้านปราสาท 

           ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๒๕๔๘ ได้จัดหางบประมาณทำถนนคอนกรีตรอบหมู่บ้านครบทุกสาย มีไฟฟ้าให้แสงสว่างทุกตรอกซอกซอย ทำป้ายชื่อชื่อให้เจ้าของบ้านจนครบทุกหลังคาเรือน เพื่อสะดวกในการส่งจดหมายและเอกสารต่างๆ ให้กับชุมชนบ้านปราสาท มีการพัฒนาทั้งโครงสร้างและบุคลากรท้องถิ่นพร้อมๆ กัน ได้มีการส่งเสริมอาชีพชุมชุนอย่างต่อเนื่อง  ให้ชุมชนมีงานทำหลังสิ้นฤดูทำนา โดยไม่ต้องออกไปหางานนอกพื้นที่ จะเห็นได้ว่ากลุ่มแม่บ้านมีงานหัตถกรรมทำเกือบทุกครัวเรือน  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลธารปราสาท  กรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงกลาโหม  กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น  ถึงแม้ว่าความเจริญทางด้านวัตถุมีความเติบโตอย่างรวดเร็ว ในชุมชนบ้านปราสาท  แต่ทางโรงเรียนบ้านธารปราสาทไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะให้กระแสค่านิยมทางวัตถุมาทำลายความดีงามของวัฒนธรรมท้องถิ่น  จึงได้พัฒนาการเรียนการสอนให้กับเด็กในโรงเรียน โดยได้จัดให้มีหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดให้นักเรียนรู้จักการทอผ้า การจักสาน การเล่นดนตรีพื้นบ้าน  เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมต่อไป โดยได้เชิญวิทยากรชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นผู้ให้ความรู้แก่นักเรียนควบคู่กับการเรียนการสอนในวิชาสามัญทั่วไปของทางราชกาล รวมทั้งให้มีการจัดอบรมเยาวชนให้ทำหน้าที่อาสาสมัครยุวมัคคุเทศก์ คอยบริการบรรยายในเรื่องแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทแก่นักท่องเที่ยวด้วย  ชุมชนและโรงเรียนบ้านธารปราสาทได้พัฒนาคู่กันทุกด้านตลอดไป  โรงเรียนบ้านธารปราสาทและแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทเป็นหมู่บ้านต้นแบบ จึงมีผู้คนหลายระดับมาศึกษาดูงานเป็นประจำทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ บ้านปราสาทได้รับได้รับตราสัญลักษณ์จากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เป็น โฮมสเตย์มาตรฐานไทย เมื่อ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๗ เป็นอันดับที่ ๔ จากโฮมสเตย์มาตรฐานไทยทั้ง ๑๔ แห่งทั่วประเทศไทย  ปัจจุบันชุมชนบ้านปราสาทและโรงเรียนบ้านธารปราสาทได้มีความร่วมมือร่วมใจในการช่วยพัฒนาชุมชน โดยการให้ข้อมูลแก่นักศึกษานักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไปด้วยความยินดี

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านปราสาท

           ชุมชนบ้านปราสาทเป็นหมู่บ้านขนาดกลางตั้งอยู่บนเนินดินสูงรูปร่างคล้ายวงรีวางยาวตามแนวตะวันออกไปตะวันตก  ขนาดของเนินดินยาวประมาณ 750 เมตร และกว้างประมาณ 450 เมตร  ลาดเอียงไปทางทิศใต้  บ้านปราสาทเหนือ หมู่ 8 ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศเหนือของลำปราสาท  มีการปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนา  ทางด้านทิศเหนือมีลำธารปราสาทซึ่งแยกมาจากลำสะแทดอันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูลไหลผ่าน ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชุมชนบ้านปราสาท เพราะทำให้บ้านปราสาทมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี 

จำนวนครัวเรือนและประชากร

          ข้อมูลประชากรจากงานทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียน อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ณ วันที่ 2 เมษายน 2557 ดังนี้ บ้านปราสาทเหนือหมู่ 8 มีจำนวน 115 ครัวเรือน ประชากรรวม 387 คนชาย 185 คน หญิง 202 คน  บ้านปราสาทใต้ หมู่ 7 มีจำนวน 184 ครัวเรือน ประชากรรวม 649 คน ชาย 304 คน หญิง 345 คน  และบ้านธารปราสาท หมู่ 17 มีจำนวน 114 ครัวเรือน ประชากรรวม 503 คน ชาย 257 คน และหญิง 256 คน

อาชีพ

          อาชีพหลัก คือ ทำนา

          อาชีพเสริม คือ จักรสาน ทอเสื่อ และรับจ้างทั่วไป

ลักษณะสังคมและครอบครัว

          ลักษณะสังคมของชาวบ้านปราสาทเป็นลักษณะเช่นเดียวกับสังคมชนบททั่วไป  โดยส่วนใหญ่ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวที่แยกมาจากครอบครัวขยาย  ประกอบด้วยสมาชิก 1-2 รุ่นคือ พ่อ แม่ และลูก ส่วนครอบครัวขยาย ประกอบด้วยสมาชิก 3 รุ่น คือ ปู่-ย่า ตา-ยาย พ่อ-แม่ และลูก ครอบครัวขยายที่พบเป็นผลเนื่องจากลูกคนใดคนหนึ่งมีหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ในยามชรา  บางครอบครัวมีญาติพี่น้องอาศัยด้วยกัน  การตั้งบ้านเรือนมักจะอยู่เป็นกลุ่มในเครือญาติเดียวกัน  มีการช่วยเหลือกันในด้านเศรษฐกิจและพิธีกรรม  ชาวบ้านมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นทั้งจากระบบเครือญาติและระบบสังคมที่เกี่ยวข้องกัน  ต่างรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ดังจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การลงแขกทำนา งานบวช งานแต่งงาน งานบุญ  งานประเพณีต่างๆ หรือการรวมกันเป็นกลุ่มองค์กรขนาดย่อย เช่น กลุ่มสตรีสหกรณ์ กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้าน และกลุ่มอาสาสมัครยุวมัคคุเทศก์ เป็นต้น

ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณี

          ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเรื่องบุญบาป นิยมการทำบุญโดยการตักบาตร นำอาหารไปถวายพระทั้งในวันธรรมดาและวันพระ ถ้าเป็นวันพระชาวบ้านจะพร้อมใจกันไปทำบุญที่วัดแทบทุกครัวเรือน  นอกจากนี้ยังมีประเพณีความเชื่อในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการทำมาหากินและชีวิตประจำวันในการอยู่ร่วมกันของสังคม  ดังจะเห็นได้จากในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมหรืองานพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ได้แก่

           เดือนอ้าย                 เก็บเกี่ยวข้าว

           เดือนยี่และเดือนสาม    นวดข้าวและนำข้าวขึ้นยุ้ง  มีการทำขวัญยุ้ง

           เดือนสี่                    เสร็จสิ้นการทำนา ชาวบ้านจะออกไปรับจ้างทำงานทั้งในและนอกหมู่บ้าน

           เดือนห้า                  งานสงกรานต์

           เดือนหก                  งานบวช งานแต่งงาน และพิธีเลี้ยงพ่อตาปู่ (หลังวันสงกรานต์ภายใน 15 วัน)

           เดือนเจ็ด                  งานบวช และเริ่มทำนา

           เดือนแปด                 งานแต่งงาน งานบุญเข้าพรรษา แห่เทียนพรรษา

           เดือนเก้า                  เดือนสุดท้ายของการทำนา

           เดือนสิบ                  ทำบุญตักบาตรสารทไทย

           เดือนสิบเอ็ด              ทำพิธีเรียกขวัญข้าวหรือขวัญแม่โพสพ

           เดือนสิบสอง              ประเพณีลอยกระทง และเริ่มเกี่ยวข้าวเบา

ภาษา   ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาโคราช บางส่วนใช้ภาษาอื่นๆ (เฉพาะเขย-สะใภ้)

การแต่งกาย  ชายนุ่งกางเกง  หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อสุภาพ

การศึกษาและศาสนา

  1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง รับเด็กอายุตั้งแต่ 2.5 – 4 ปี

  2. โรงเรียนบ้านธารปราสาท เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

  3. วัด 1 แห่ง คือ วัดบ้านปราสาท

การคมนาคม

ชุมชนบ้านปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง  จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ติดทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพนครราชสีมา – ขอนแก่น)  ระยะทางห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 45 กิโลเมตร จากตัวเมืองนครราชสีมามุ่งหน้าไปทางจังหวัดขอนแก่น ถึงหลักกิโลเมตรที่ 44 จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงชุมชนบ้านปราสาท

bottom of page